เกษตรเพื่อชีวิต
มาตรฐานเกษตรเพื่อชีวิต สำหรับพืชอาหาร
มาตรฐานเกษตรเพื่อชีวิต สำหรับพืชอาหารที่รับผิดชอบต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และสังคม มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)อนุญาตให้ใช้สารเคมีฆ่าหญ้า สารพิษกำจัดแมลงและโรคพืชแล้วเว้นระยะก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งยากแก่การปฏิบัติ อีกทั้งการใช้สารพิษเหล่านั้นยังไม่ปลอดภัยต่อผู้ปลูกที่มักไม่ได้ป้องกันตนเองอย่างรัดกุม มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก็มีข้อจำกัดมากมายสำหรับผู้เริ่มต้น เช่นมีข้อกำหนดให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่มีส่วนผสมของกากอุตสาหกรรม ซึ่งก็คือต้องหมักปุ๋ยใช้เอง เพราะปุ๋ยอินทรีย์ที่จำหน่ายในท้องตลาด ล้วนมีส่วนผสมของกากอุตสาหกรรมจากโรงงานอ้อยหรือโรงงานผงชูรส มูลสัตว์ที่ใช้ผสมก็มาจากการเลี้ยงแบบฟาร์มที่มียาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ จนอาจกล่าวได้ว่าหาพืชอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆได้ยากมาก ค่าขอตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก็แพง ด้วยเหตุนี้สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนจึงได้จัดทำ “มาตรฐานเกษตรเพื่อชีวิตสำหรับพืชอาหาร” โดยมาตรฐานนี้ห้ามการใช้สารเคมีฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงและโรคพืชโดยเด็ดขาด แต่ให้ใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างมีเงื่อนไข โดยเน้นที่การบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ มาตรฐานนี้จึงอยู่กลางๆระหว่างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และ GAP ซึ่งใช้ในการผลิตพืชอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ยากแก่การปฏิบัติ ข้อกำหนดการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรเพื่อชีวิตสำหรับพืชอาหาร ดังนี้ ดิน ๑) มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นตลอดเวลา และแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาดินให้มีคุณภาพ โดยมีไส้เดือนดินเป็นตัวชี้วัด ๒) ไม่ปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิกส์ น้ำ ๑) ไม่ใช้น้ำที่ปนเปื้อนโลหะหนัก และแสวงหาความรู้เรื่องการบำบัดน้ำ ๒) ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัดที่สุด การปลูกและดูแลรักษา ๑) ทุ่มเทด้วยใจ สร้างสรรค์อย่างประณีต ใช้วัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น ใช้เงินลงทุนน้อย แต่ใช้ความรู้ แรงงาน และทรัพยากรในครัวเรือนและในชุมชน หลีกเลี่ยงการกู้หนี้ยืมสินมาทำการผลิต ๒) ใช้พันธุ์พืชที่มีคุณภาพ ไม่ใช้พันธุ์พืชที่ตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ๓) เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดที่มีฟิลเลอร์เป็นอนินทรีย์สารซึ่งทำให้ดินแข็ง ๔) ไม่ใช้สารเคมีสำหรับกำจัดหนอน แมลง วัชพืช และโรคพืช มุ่งแสวงหาความรู้ในการใช้วิธีกลและสารชีวภัณฑ์แทน ๕) ใช้การปลูกพืชหมุนเวียนในการควบคุมโรคพืชและแมลง การเก็บเกี่ยว ๑) เก็บเกี่ยวพืชในช่วงเวลาตามอายุของพืชและวิธีการที่เหมาะสม (ให้พืชเจริญเติบโตตามธรรมชาติโดยไม่เร่ง) ๒)ใช้ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษา และการขนส่งที่เหมาะสม ๓) ในกรณีที่จำเป็นต้องบ่มผลผลิต ให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการบ่มสุก ๔) ไม่ใช้วิธีเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว การตลาด ๑) เน้นการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน แต่สามารถจัดการผลผลิตส่วนเกินเพื่อขายในท้องถิ่นไปจนถึงรวมกลุ่มกันทำวิสาหกิจชุมชนจำหน่าย ไม่มุ่งเน้นเพื่อการส่งออก ๒) มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพึ่งพาอาศัยกันในชุมชนและเครือข่าย โดยไม่มุ่งหวังเอากำไรแต่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว เปรียบเทียบข้อกำหนดที่สำคัญบางข้อของมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์และมาตรฐานเกษตรเพื่อชีวิตสำหรับพืชอาหาร
|