ห้องเรียนชุมชน
แผนแม่บทชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านป่าซาง หมู่ 3 ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พ.ศ.2560
นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน ศูนย์เรียนรู้ของชุมชนแม่จัน-พญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
รุ่นปี 2557
ร่วมกับแกนนำชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อจัดทำแผนแม่บทชุมชนบ้านป่าซางหมู่ 3 ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ภายใต้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้วยเครื่องมืองประชาพิจัยและพัฒนา
(PR&D: People Research and Development)
ตลอดกระบวนการแกนนำชุมชนได้เรียนรู้เครื่องมือสำรวจทุนชุมชน
สำรวจปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา จัดทำแผนผังประวัติศาสตร์ชุมชน
แผนผังศักยภาพและจุดเสี่ยงของชุมชน ได้ร่วมฝันภาพอนาคตของชุมชน จนนำไปสู่การจัดทำวิสัยทัศน์ชุมชนและแผนแม่บทชุมชนบ้านป่าซาง
กระบวนการนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเสริมสร้างคุณค่าของหลักสูตรที่มุ่งให้เกิด
“ชุมชนเรียนรู้อย่างเป็นระบบ” |
ปลูกอยู่ปลูกกินที่บ้านเลิศอรุณ หมู่ที่ ๗ ตำบลทับทัน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
คุณค่าของการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
คือ ได้บูรณาการหลายๆวิชา ประยุกต์หลักวิชาสู่การปฏิบัติจริง
เชื่อมโยงวิชาด้านการเกษตร ด้านสุขภาพ ด้านการเงินและสวัสดิการ ด้านวิสาหกิจชุมชน
ด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เข้าด้วยกัน และ คุณค่าสำคัญอีกประการต่อชุมชน คือ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษา
อาจารย์ กับชาวบ้านเข้าด้วยกัน การสร้างการเรียนรู้ การสร้างทีมงานชุมชน
สร้างความสามัคคี การชื่นชมให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวบ้านที่สามารถทำโครงงานต่างๆได้เอง
จนมีหน่วยงานรัฐเข้ามาเยี่ยมชมกิจกรรม เช่น แปลงเกษตรไร้สารเคมี |
การขับเคลื่อนชุมต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนาเกาะ หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งนาเลา อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
นักศึกษารุ่นปี 2557 ของ ศรช.คอนสาร
ศรป.ชัยภูมิ ร่วมกับกรรมการหมู่บ้านและแกนนำชุมชนที่เข้าร่วมเรียนรู้ทุกครัวเรือน
โดยใช้ศาลาวัดเป็นทีเรียนรู้ ห่อข้าวมากินด้วยกัน เริ่มจากเรียนรู้เรื่องแผนชีวิต 4
แผน คือแผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน และแผนสุขภาพ
และมีสัญญาต่อกันในการเขียนแผนชีวิต มีเป้าหมายที่ชัดเจน
เริ่มจดบันทึกข้อมูลค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เริ่มมีการออม
และมีการปรับทัศนคติในการกินอยู่เพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น ![]() ต่อมาเริ่มกระบวนการของแผนแม่บทชุมชน
โดยการระดมความคิดเห็นและประสบการณ์การพัฒนาจากผู้แทนชุมชน ได้ทราบปัญหา
ความต้องการ และได้วิสัยทัศน์ชุมชนบ้านนาเกาะ
“เป็นชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และนายอำเภอคอนสารได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนาเกาะ
หลังจากนั้นนักศึกษาและคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกันยกร่างแผนยุทธศาสตร์ของหมู่บ้าน
โดยมีโครงการเด่นที่ได้ทำจริง ได้แก่ โครงการธนาคารขยะยิ้มบ้านนาเกาะ
โครงการจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ โครงการการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน
โครงการกองทุนโฮมสเตย์ โครงการกองทุนกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง
โครงการการประสานงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน |
เรียนรู้แบบ “เจอนั่น-เจอนี่” ที่ ม.ชีวิต
![]() อาจารย์ประจำหลักสูตร / ผู้ประสานงานเครือข่าย
ม.ชีวิต จ.ชุมพร สอนที่ ม.ชีวิต (สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน)
มาก็หลายปี ได้เรียนรู้ร่วมกับนักศึกษามาก็หลายรุ่น หลายวัย หลายอาชีพ ฯลฯ
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนยึดถือเป็นหลักในการเป็นครูคือ เราจะดำรงตนเป็นกัลยาณมิตรที่ดี
(ที่สุด) ของนักศึกษา ที่วงเล็บตรงคำว่า (ที่สุด)
เพราะรู้ว่ายังอีกนาน...อีกไกล...ไม่มีวันสิ้นสุด มีเรื่องดีๆ ทั้งเก่าและใหม่โผล่หน้าเข้ามาทักทายให้ได้ไตร่ตรองสะท้อนคิด
ได้นำไปปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างตนเองกับนักศึกษา
และนี่คือเรื่องหนึ่งที่เราภูมิใจ เรียนรู้แบบ “เจอนั่น-เจอนี่” ที่ ม.ชีวิต ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อท่านได้อ่านชื่อเรื่องในครั้งแรกคงจะคิดเดาเอาว่า
เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นออกไปเรียนรู้-ดูงาน ณ สถานที่ต่างๆ จึงได้ เจอนั่น-เจอนี่
ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรใครๆ เขาก็ทำกัน แต่ถ้าอธิบายใหม่ว่า เจอนั่น-เจอนี่
มาจากการเลียนเสียงทับศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Journal-Journey ความน่าสนใจคงจะเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง Journal
แปลว่า วารสาร Journey แปลว่า การเดินทาง
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ ? 1. เริ่มต้นที่การเขียนและอ่านบันทึกการเรียนรู้รายวิชา ทุกครั้งที่ผู้เขียนจัดกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะในชั้นเรียนหรือออกไปปฏิบัติงานภาคสนาม
งานชิ้นหนึ่งที่นักศึกษาต้องทำส่งอาจารย์ คือ ต้องมีการเขียนบันทึกการเรียนรู้ โดยกำหนดประเด็นใช้เป็นแนวทางในการเขียน
3 ข้อ ดังนี้
ผู้เขียนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะไม่ส่งผ่านถ้อยคำอันน่าเกลียด
หรือวาจาที่สร้างความเกลียดชัง อย่างที่เรียกกันว่า
Hate
Speech
อันมีรากฐานมาจากการเริ่มต้นฟัง-อ่าน-คิด แล้วตีความ ตัดสินถูก-ผิด
กล่าวหา กล่าวโทษ ตำหนิติเตียน จนเลยเถิดไปถึงขั้นดุด่าว่ากล่าว
ถ้อยคำเหล่านี้เมื่อเริ่มต้นหยิบยกขึ้นมาใช้มันจะบั่นทอนกำลังใจของนักศึกษา
และถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้นรากเหง้าที่แท้จริงของถ้อยคำเหล่านี้มาจากอัตตา/ตัวตนที่ติดอยู่ในกรงขังความคิดตัวกู/ของกู
แสดงออกเมื่อไรก็มักจะนำไปสู่ความขัดแย้ง น้อยใจ หงุดหงิด โกรธ เกลียดชัง ฯลฯ
แล้วอย่างนี้จะไปเป็นครูสอนใครเขาได้ บันทึกการเรียนรู้ทุกชิ้นเมื่อตรวจอ่าน
แนะนำ แสดงความคิดเห็น และเขียน cheer-up สร้างกำลังใจเรียบร้อยแล้ว
ผู้เขียนจะส่งคืนให้นักศึกษานำไปรวบรวมพร้อมสอดแทรกเอกสารประกอบต่างๆ
จัดทำเป็นรูปเล่มรายงานส่งในช่วงปลายภาคเรียน นักศึกษาที่ขาดเรียน
ขาดการเข้าร่วมกิจกรรม ผู้เขียนอนุญาตให้ติดตามเรียนรู้จากการศึกษาบันทึกฯ ของเพื่อนๆ
แล้วเขียนขึ้นมาใหม่บนฐานความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถของตนเอง
พร้อมทั้งให้เครดิตด้วยการขอบคุณเพื่อนที่เป็นเจ้าของบันทึกฯ
ส่งมาให้ผู้เขียนตรวจอ่านตามขั้นตอนปกติ
เป็นการช่วยให้ผู้ที่ขาดเรียนได้ติดตามกระบวนการเรียนรู้ ได้ศึกษา สอบถาม
ทำความเข้าใจจากเพื่อน จากครู และมีรายงานส่งเหมือนคนอื่น
แต่คะแนนเก็บโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนจำเป็นต้องขาดตกบกพร่องได้น้อยกว่าเพื่อนๆ
ก็ว่ากันไปตามเหตุ-ปัจจัย 2. บันทึกการเรียนรู้ = Learning Journals หลังจากอ่านและเขียนแสดงความคิดเห็นในบันทึกการเรียนรู้ของนักศึกษาอยู่นานหลายภาคเรียนโดยไม่ได้ไปใส่ใจสงสัยว่า
วิธีการแบบนี้กลุ่มนักการศึกษาที่ค้นคว้าเน้นหนักทางด้านการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (Adult Learning) ให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน อย่างไร จนกระทั่งได้รับของขวัญปีใหม่ 2559
จาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นหนังสือเรื่อง เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง Transformative
Learning ที่ท่านอ่านและตีความจากหนังสือ Transformative
Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education
เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor และคณะ ![]() อ่านไปเรื่อยๆ
หลายช่วงหลายตอนก็พบว่า บันทึกการเรียนรู้
ที่เราให้ความสำคัญศัพท์ทางการศึกษาเขาเรียกว่า Learning Journals เป็นการเขียนบันทึกการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
สม่ำเสมอ ตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ค่อนข้างนาน)
ที่ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติงานจริงในกิจกรรมใดๆ ได้สะสมทักษะความชำนาญจนกลายเป็นชุดประสบการณ์ที่ติดแน่นฝังลึกในตัวผู้เรียน การเขียนบันทึกการเรียนรู้แบบ
Learning
Journals ผู้เรียนจะต้องรวบรวมโน้ตย่อสิ่งที่ได้ฟัง ได้ดู
ได้อ่าน ได้พูดจาแลกเปลี่ยน และได้ลงมือทำ
นำขึ้นมาทบทวนเปรียบเทียบกับข้อสังเกตของตนเอง
นำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาคิดวิเคราะห์จนกลายเป็นความรู้ความเข้าใจใหม่
แล้วเขียนสะท้อนออกมาบนพื้นฐานมุมมองของตนเองอย่างกล้าหาญ ตรงไปตรงมา
โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะเป็นมุมมองที่สอดคล้องหรือแตกต่างจากอาจารย์และเพื่อน การไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างจริงจังของผู้เรียนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้บรรยากาศของการเรียนรู้ที่ถูกครอบงำ
จำกัดถูก-ผิด โดยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าซึ่งเป็นไปได้ทั้งครู-ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้
ผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อนๆ นักศึกษา และกรอบความคิดในสังคมไทยที่มักจะกดดันให้ผู้น้อยสยบยอมจำนนกับความคิดของผู้ใหญ่โดยไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถาม
และแสดงความคิดเห็นที่ พูดออกมาจากใจ จึงต้องกลบเกลื่อนความคิด ความจริง
อารมณ์ ความรู้สึก ฯลฯ ด้วยท่าทีนิ่งๆ เฉยๆ ดูสุภาพเรียบร้อย
แต่ความจริงมีเสียงของความขัดแย้งกดดันดังก้องอยู่ในหัว เราแก้ไขอุปสรรคเรื่องนี้กันอย่างไร
? 1. เสริมสร้างทักษะการไตร่ตรองสะท้อนคิดด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา กิจกรรมหนึ่งที่ผู้เขียนได้ทดลองปฏิบัติในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ ม.ชีวิต คือการนำกระบวนการ สุนทรียสนทนา (Dialogue) มาปรับใช้แบบค่อยเป็นค่อยไป เรียนรู้แบบสะสมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ยกระดับการฟัง-คิด-พูด และสร้างความรู้ความเข้าใจ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง เราใช้การ ตั้งวงคุยกัน ภายหลังเสร็จสิ้นการบรรยาย ดูวิดีทัศน์ อ่านบทความ หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามเนื้อหาวิชาและหลักสูตรของสถาบันฯ เราพบว่าการตั้งวงคุยกันสร้างคุณประโยชน์ให้กับสมาชิกในกลุ่มได้เป็นอย่างมาก ทั้งสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่/ผู้เยาว์ หญิง/ชาย รวย/จน ฯลฯ แต่ละคนมีประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตที่แตกต่างกันไป ความภาคภูมิใจ ความอัดอั้นตันใจ ความสดใสร่าเริงเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ แต่กลับกลายเป็นความเงียบเหงาจับขั้วหัวใจเมื่ออยู่คนเดียวในบ้าน ความรู้สึกว่าไม่รู้จะพูดอะไรกับใครเพราะที่บ้านมีแต่คำสั่งคำสอนครอบงำความคิดไปเสียทุกเรื่อง ความคับแค้นใจที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงานในองค์กร จากการขายผลผลิตที่ถูกกดราคา ความเครียดจากภาวะหนี้สินและปัญหาในครอบครัว อาการเจ็บป่วยที่มีพื้นฐานอยู่บนปัญหาจิตใจและการกินการอยู่ที่ไม่สมดุลของตนเอง ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงพูดคุยด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนาทำให้สมาชิกแต่ละคนพบว่า เสียงที่พูดออกไปมีเพื่อนๆ รับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ตัดสินดี/ชั่ว ถูก/ผิด ไม่พูดจาสั่งสอนด้วยท่าทียกตนข่มท่าน มีเพียงการนิ่งฟัง รับรู้ และสะท้อนออกมาเป็นคำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจ เห็นใจ ชื่นชมยินดีในสิ่งที่เป็นความสำเร็จ และสัมผัสได้ถึงอาการวางเฉยแบบมีอุเบกขา เมื่อได้ฟังเรื่องราวที่มันเกินเลยไปจากความเป็นจริง สัมผัสอุเบกขาจากเพื่อนๆ นี้เองเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนอัตตาตัวตนของผู้พูด เปิดโอกาสให้รู้เนื้อรู้ตัวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยลดอัตตาตัวตน พูดเฉพาะในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ลงมือทำจริง และรู้สึกออกมาจริงๆ เพียงเท่านี้ก็มีคุณค่ามากพอแล้ว เราเรียกสิ่งที่ทำลงไปด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนานี้ว่า เสียงของฉัน เราร่วมกันได้ยิน เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากในการสร้างสภาวะที่ทำให้เกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทำลายอุปสรรคที่ปิดกั้นและคืนกลับ เสียงของฉัน ให้กับชุมชนเล็กๆ ของเรา คืนความมั่นใจให้กับสมาชิก คืนคุณค่าและความหมายให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง คืนแรงบันดาลใจให้เขามุ่งมั่นพัฒนาตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริงตามหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ของสถาบันฯ ซึ่งเป็น การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : Transformative Learning ที่เราสร้างขึ้นร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจากการ ตั้งวงคุยกันแบบสุนทรียสนทนา จะถูกนำมาไตร่ตรองสะท้อนคิดแล้วจึงเขียนออกมาด้วยความลุ่มลึกของจิตใจและสติปัญญา ช่วยยกระดับในเชิงคุณภาพทำให้บันทึกการเรียนรู้กลายเป็น Reflective Learning Journals มีคุณค่าและเป็นช่องทางการสื่อสารที่ดีนำเสนอความจริงทั้งในระดับเหตุการณ์และระดับความคิดจิตใจ เมื่อครู-ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ได้ฟัง-คิด-อ่านงานของนักศึกษาจะสามารถเข้าถึงและส่งต่อคุณค่าของเรื่องราวเหล่านั้นด้วยการเขียนเพื่อสร้างกำลังใจ แนะนำแนวทางที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ ผ่านบันทึกการเรียนรู้ของนักศึกษาได้เป็นรายบุคคล 2. ขยายผลไปสู่การเขียนบันทึกการเรียนรู้จากการทำโครงงาน กฎเกณฑ์ที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นไฟท์บังคับอย่างหนึ่งของการเรียนจบปริญญาตรีที่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (ม.ชีวิต) คือ นักศึกษาจะต้องทำโครงงานเฉพาะสาขา ซึ่งสถาบันฯ ได้ออกแบบหลักสูตรให้มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามผล ประเมินผล ให้คะแนน และตัดเกรด โดยกำหนดเป็นชุดวิชาเรียนต่อเนื่อง 8 ภาคเรียนจนสิ้นสุดการเรียน Course Work เรียกชื่อต่างกันไปตามสาขาวิชาที่นักศึกษาเลือกเรียน ได้แก่ เรียกว่าชุดวิชา การสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน 1-8 สำหรับสาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เรียกว่าชุดวิชา การพัฒนาคุณภาพชีวิต 1-8 สำหรับสาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน และเรียกว่าชุดวิชา โครงงานการเกษตรยั่งยืน 1-8 สำหรับสาขาวิชาการจัดการการเกษตรยั่งยืน แต่สำหรับอาจารย์และนักศึกษาชอบและเคยชินที่จะเรียกการทำโครงงานเฉพาะสาขานี้ว่า โครงงาน 3 ปี ตอกย้ำกันไปเลยว่าต้องทำจริง ต่อเนื่อง ติดตามผล/ประเมินผลอย่างเข้มข้นจริงจังตลอด 3 ปีเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่โครงงานประเภท ชั่วข้ามเทอม หรือข้ามเดือน ข้ามสัปดาห์ สุดท้ายก็เป็น โครงงานชั่วข้ามคืน ซึ่งเป็นคำที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาเตือนสตินักศึกษาว่า อย่ารอช้า เร่งทำงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่องตาม Road Map ที่วางไว้เป็นกติกาจะได้จบการศึกษารับปริญญาพร้อมเพื่อนๆ (ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเกรดและเรื่องอื่นๆ) การกำหนดให้นักศึกษาต้องทำ โครงงานเฉพาะสาขา หรือ โครงงาน 3 ปี ในทุกสาขาวิชาเป็นความตั้งใจของสถาบันฯ เพื่อประยุกต์ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Project Based Learning : PBL การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน มาเป็นแนวทางหลักในการจัดการศึกษา ว่ากันตามทฤษฎี PBL เป็นการศึกษาโดยการทำโครงงานโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนจะใช้แรงบันดาลใจของตนเองเลือกศึกษาในหัวข้อที่ตนสนใจ โดยครู-ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำกรอบในการศึกษาให้เท่านั้น การศึกษาแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนมีความตื่นตัวในการปฏิบัติจริง ศึกษาด้วยความอยากรู้อยากเห็นและมีความกระตือรือร้น รู้สึกท้าทายในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และภูมิใจกับผลงานที่ออกมาเพราะเป็นผลงานที่ลงมือทำเอง ทำให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจในงานนั้นอย่างแท้จริง นอกจากนั้น การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ที่ดีจะต้องบูรณาการกับชีวิต มีกระบวนการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection) หรือถอดบทเรียนอย่างเป็นระยะๆ สม่ำเสมอ และควรใช้เวลาทำโครงงานนานระยะหนึ่งเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยหลายชิ้นออกมายืนยันคุณประโยชน์ของ PBL ว่า ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นเมื่อมีโอกาสได้ค้นคว้า-ปฏิบัติในสิ่งที่ซับซ้อน ท้าทาย หรือในบางครั้งเป็นประเด็นปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ศักยภาพในการรับรู้สิ่งใหม่ๆ ของผู้เรียนจะถูกยกระดับขึ้นเมื่อได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการแก้ปัญหาที่มีความหมาย และเมื่อผู้เรียนได้รับความช่วยเหลือให้เข้าใจว่าความรู้กับทักษะเหล่านั้นสัมพันธ์กันด้วยเหตุอะไร เมื่อใด และอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังหลุมพรางของ PBL คือ ครู-ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้จะต้องไม่ไปหลงติดที่ ชิ้นงาน/นวัตกรรม/ความสำเร็จ ที่ได้จากโครงงาน PBL มากกว่าการมุ่งไปที่การออกแบบ PBL ให้พัฒนา ทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูหลายคนพยายามบีบคั้นให้ได้ชิ้นงานที่มีรูปแบบที่ดี มีจุดเด่นที่ตรงกับสมัยนิยมจะได้นำไปอวดอ้างสร้างชื่อเสียง แต่ละเลยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะสำคัญต่อสมดุลของชีวิต หลุมพรางอย่างนี้เห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากการประกวดโครงงานทั่วๆ ไปที่ให้คะแนนรางวัล ชิ้นงานที่เลอเลิศ มากกว่า ทักษะที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ พูดง่ายๆ ก็คือ หลงไปให้ความสำคัญกับชิ้นงานเพื่อนำไป ยกป้าย-ถ่ายรูป มากกว่าที่จะทำงานแบบ ปิดทองหลังพระ สร้างทักษะการเรียนรู้และทักษะชีวิตให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เมื่อนักศึกษานำเสนอเค้าโครง (Proposal) ของโครงงานเฉพาะสาขาและผ่านขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไข อนุมัติให้ทำโครงงานฯ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ของการศึกษาในปีแรก ในช่วงของการปฏิบัติงานผู้เขียนจะสนับสนุน (และขอร้องแกมบังคับ) ให้นักศึกษาเขียน รายงานผลความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานโครงงานเฉพาะสาขา ในรูปแบบ บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals นอกจากการทำกิจกรรมในโครงงานเฉพาะสาขาแล้ว นักศึกษา ม.ชีวิตทุกคนจะต้องทำกิจกรรมต่อเนื่องจากวิชาการวางแผนและเป้าหมายชีวิต ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแผนชีวิตของตนเอง 4 แผน คือ แผนบริหารการเงิน (ทำบัญชีรับ-จ่าย การออมเงิน) แผนสุขภาพ แผนการบริหารเวลา แผนพัฒนาอาชีพและการงาน นอกจากนั้นยังมีแผนพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการทำโครงงานในวิชาการรู้จักตนเองและการเปลี่ยนแปลงตน ดังนั้น ในแต่ละภาคเรียนนักศึกษาจะต้องเขียนและส่ง บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals ภาคเรียนละ 5 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : โครงงานพัฒนาอาชีพ & การงาน ฉบับที่ 2 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : แผนสุขภาพ ฉบับที่ 3 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : แผนการเงิน บัญชีรายรับ/รายจ่าย เงินออม ฉบับที่ 4 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : แผนการจัดการเวลา ฉบับที่ 5 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : แผน/โครงการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals ภาคเรียนละ 5 ฉบับนี้ เมื่อทำต่อเนื่องรวม 8 ภาคเรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 – 9 เพื่อให้สอดคล้องกับชุดวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน 1-8 นักศึกษาจะมีแหล่งข้อมูลดิบเป็น บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals ที่สร้างขึ้นมาด้วยฝีมือตนเองมากถึง 40 ฉบับ และเมื่อได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีด้วยคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาจัดระบบเรียบเรียงใหม่โดยช่วยกันสร้างกรอบแนวคิด (Conceptual Frame-Work) ที่เหมาะสมและนำมาสรุปเป็นเอกสารโครงงานเฉพาะสาขาหรือโครงงาน 3 ปีตามรูปแบบที่สถาบันฯ กำหนด ในขั้นตอนนี้ผู้เขียนน้อมนำให้นักศึกษาได้ตระหนักว่า เขากำลังสร้างงานชิ้นเอก (Master Piece) ที่เป็นตำนานชีวิตของตนเอง เรียกงานชิ้นนี้ว่า บนเส้นทางเรียนรู้ : Learning Journey ของตัวนักศึกษาเอง จาก บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals สู่งานเขียน บนเส้นทางเรียนรู้ : Learning Journey ของตัวนักศึกษาเอง นี่คือที่มาของ การเรียนรู้แบบเจอนั่น-เจอนี่ที่ ม.ชีวิต ตามชื่อบทความนี้ 3. การเรียนรู้แบบเจอนั่น-เจอนี่ของครูและศิษย์
ในมุมมองเดียวกัน บนเส้นทางเรียนรู้ : Learning Journey ของครู/ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ยังทอดยาวไปอีกไกล ยังต้องผ่านโค้งหักศอก เนินสูงชัน หลุมบ่อของปัญหา/อุปสรรค และความยากลำบากนานานัปการ เป็นไปไม่ได้เลยที่ครูจะออกเดินทางไปคนเดียวจนถึงเป้าหมาย มีบ้างบางโอกาสครูอาจจะต้องขอเวลาปลีกวิเวกเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง ฝึกทักษะสำคัญ สร้างพลังชีวิตให้กับตนเอง แต่การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตและชุมชน ครูและศิษย์จะต้องเดินทางไกลไปร่วมกันแบบเจอนั่น-เจอนี่ ตลอดเส้นทาง |
ชวนไปหนำข้าว ทำนาข้าวด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้
บทความและภาพถ่าย : อาจารย์ปรีชา รักษ์เมือง ศรช. บ้านนาสาร ศรป.สุราษฏร์ธานี ![]() ผู้เขียนร่วมเรียนรู้การหนำข้าวกับนักศึกษา ด้วยเห็นว่าต้นยางพารา ในเนื้อที่ 4 ไร่ ยังเป็นต้นเล็กผู้ใหญ่สุต้าน จันทร์พุ่ม นักศึกษาจากศูนย์เรียนรู้ของชุมชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ศรช.บ้านนาสาร) จึงคิดใช้พื้นที่ว่างของตน สร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น โดยผู้ใหญ่สุต้าน ร่วมกับผู้นำในท้องถิ่น ได้ฟื้นฟูการทำนาแบบท้องถิ่นของหมู่บ้านขึ้น เพื่อเผยแพร่แนวคิดและวิธีการนี้สู่เยาวชนในหมู่บ้านให้รู้จักการทำนาแบบท้องถิ่นของตน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาปักษ์ใต้ที่เรียกกันว่าการหนำข้าว ![]() กำนันนิยม หนูศรีแก้ว กำลังอธิบายความเป็นมาของการทำนาข้าวแบบพื้นบ้าน นอกจากจะริเริ่มฟื้นฟูวิธีการหนำข้าวนี้ให้แก่เยาวชน ผู้ใหญ่สุต้าน ยังได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเพื่อนนักศึกษาที่เรียนด้วยกันใน ศรช.บ้านนาสาร ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมอนุรักษ์การทำนาแบบท้องถิ่น ของหมู่บ้านช่องช้าง ตำบลพรุพี อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฏร์ธานี ไปพร้อมกันด้วย การหนำข้าว คือ การปลูกข้าวบนพื้นที่ราบ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทำนาไร่ ซึ่งหมู่บ้านช่องช้าง มีการทำนาไร่แบบหนำข้าว มาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2497 กระทั่งถึง ปี พ.ศ. 2522 การหนำข้าวเริ่มลดน้อยลง จนแทบไม่เหลือให้เห็น แม้เยาวชนในพื้นที่เองก็ไม่รู้จักวิถีชาวนาพื้นบ้านของตน ![]() ไม้สักและกระบอกหนำข้าว กิจกรรมการหนำข้าวนี้ ผู้ใหญ่สุต้าน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้รู้หลาย ๆ คนในท้องถิ่น ทั้งยังได้รับความสนใจจาก นักศึกษา ศรช. บ้านนาสาร เพราะนอกจากวิธีการแล้ว ผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมยังได้รับเกร็ดความรู้ปลีกย่อยที่น่าสนใจ เช่น อุปกรณ์การหนำข้าว ที่เรียกว่าไม้สัก กระบอกหนำข้าว และเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็เป็นอุปกรณ์ที่มีชื่อเรียกอย่างมีที่มา คือ 1. ไม้สัก ที่เรียก ก็ไม่ใช่ไม้ที่ได้มาจากต้นสัก แต่เป็นไม้ที่ใช้สำหรับกระทุ้งดินให้เป็นหลุมชาวใต้เรียกว่า "แทงสัก" โดยเรียกอุปกรณ์นี้ว่า "ไม้สัก" 2. กระบอกหนำข้าว คือ กระบอกไม้ไผ่ ที่ใช้สำหรับใส่เมล็ดพันธุ์ข้าวหยอดลงหลุม 3. เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ในการปลูก วิธีการหนำข้าว จะปลูกแบบหยอดเป็นหลุม
(drilling) หลังจากเตรียมดินไว้แล้วจะใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งดินให้เป็นหลุมลึกประมาณ
2-3 เซนติเมตร หรือใช้เสียมที่ต่อด้ามยาวขุดดินให้เป็นหลุมเล็ก
ๆ ลึกประมาณ 2-3
เซนติเมตร เว้นระยะห่างระหว่างต้นและแถวประมาณ 25-30 เซนติเมตรแล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไปในหลุม
ๆ ละ ประมาณ 5-8 ![]() ผู้รู้ในท้องถิ่นกำลังแทงสัก ![]() นักศึกษา ม.ชีวิต กำลังฝึกแทงสัก แต่ในพื้นที่ปลูกที่มีความลาดชันน้อยกว่า 5 องศา ให้ใช้กิ่งไม้ลากผ่านหลุมที่หยอดเมล็ดแล้วเป็นการกลบหลุม การปลูกโดยวิธีหยอดเป็นหลุมเป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากง่ายต่อการกำจัดวัชพืชและดูแลรักษา เป็นวิธีการที่พบเห็นได้ทั่วไป การปลูกแบบนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 6-8 กิโลกรัมฃ ขั้นตอนการปลูก 1. ใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งดินให้เป็นหลุมลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร 2. หยอดเมล็ดข้าวลงไปในหลุม ๆ ละ ประมาณ 5-8 เมล็ด 3. ดินกลบหลุมปลูก ![]() นักศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ![]() หยอดเมล็ดข้าวลงหลุม จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ จากการเรียนรู้วิธีการทำนาไร่ แบบการหนำข้าวของนักศึกษา ศรช.บ้านนาสาร ทำให้นักศึกษาหลายคนที่มีที่ดินว่างเปล่า และมีสวนยางพาราที่มีอายุการปลูกต้นยางประมาณ 1-2 ปี สนใจที่จะต่อยอดความคิดนี้ นำกลับไปริเริ่มปลูกข้าวนาไร่ แบบการหนำข้าวในที่ดินของตนเองบ้าง จึงนับเป็นจุดเริ่มของการเรียนรู้สู่การพึ่งตนเอง ที่แม้ว่านักศึกษาเองจะยังไม่ได้ปลูกข้าวในที่ดินของตนเองจริง ๆ แต่เพียงแค่มีแนวคิดที่จะนำกลับไปทำต่อก็นับว่า ได้เริ่มต้นเรียนรู้ในการทำนาไร่ แบบหนำข้าวนี้ อย่างบรรลุวัตถุประสงค์ ที่ผมซึ่งผู้เป็นอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ประจำสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตั้งใจไว้ การนำนักศึกษาลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ย่อมดีกว่าการบังคับให้นักศึกษาไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำนาไร่ ที่ไม่ว่าจะให้อ่าน 1 เล่ม หรือ 10 เล่ม ก็ไม่เท่ากับการได้ไปเรียนรู้และลงมือปฎิบัติจริงในชุมชนเพียงครั้งเดียว ที่น่าภูมิใจก็คือ เสียงสะท้อนจากชุมชนที่บอกไว้ว่า “นี่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เคยเห็นจากมหาวิทยาลัยที่ไหนเลย เพราะเคยเห็นแต่เขาเรียนกันในห้องสี่เหลี่ยม ไม่ได้มาเรียนรู้กับชาวนาจริงๆ สถาบันนี้จัดการศึกษาที่แปลกจากที่อื่น สอนคนให้รู้จัก พึ่งตนเองจากการปฏิบัติจริง แม้ในยามวิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวของแพง แต่การทำนาไร่ในแบบการหนำข้าว จะยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อให้พื้นที่แห่งการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ผู้ใหญ่สุต้าน จันทร์พุ่มนักศึกษาตัวอย่างของ ศรช.บ้านนาสาร เต็มใจให้ใช้พื้นที่ของตนเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการทำนาไร่ แบบการหนำข้าวเดินหน้าต่อไป |